สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เมื่อลูกหนี้ตายต้องฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่ผิดนัดและรู้ว่าตาย

การที่ลูกหนี้ตายไม่ว่าสัญญานั้นๆ จะมีอายุความนานเพียงใดก็ตาม แต่หากได้ความว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้และถึงแก่ความตายแล้ว ก่อให้เกิดหน้าที่ตามกฎหมายแก่เจ้าหนี้จะต้องฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของลูกหนี้ภายใน ๑ ปี นับแต่รู้หรือควรรู้ว่าลูกหนี้ถึงแก่ความตาย และภายใน ๑๐ ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม หากไม่ได้ฟ้องลูกหนี้ภายในระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้คดีดังกล่าวขาดอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9124/2559

แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ห. ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของ ห. ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ขณะ ห. ถึงแก่ความตาย ห. ยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หลังจาก ห. ตายแล้วก็ได้มีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อมาอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบรับว่าหลังจาก ห. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์ให้โอนเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาตามสัญญาเช่าซื้อจาก ห. มาเป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้แต่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าวต่อมา พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ประสงค์จะให้เปลี่ยนชื่อคู่สัญญาและชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของ ห. ให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าว ถือเป็นการสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแทน ห. อายุความคดีนี้จึงมิได้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ห. ตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่ต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 คือวันที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่าจะเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ หรือเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่โจทก์อ้างมาตามฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมเบี้ยปรับและให้ส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 คดีโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์จึงไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ราคาเป็นเงิน 170,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย 48,000 บาท กับอีกเดือนละ 6,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 48,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือชดใช้ราคาแล้วเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของนางเหลี่ยม ที่ตกทอดแก่ตน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้โจทก์ 590 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากนี้ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมของนางเหลี่ยม ซึ่งถึงแก่ความตายในเดือนเมษายน 2548 ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 นางเหลี่ยมทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บท 6451 ร้อยเอ็ด จากโจทก์ ราคาเช่าซื้อ 399,532.80 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้องวดละ 6,658.88 บาท รวม 60 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 ตุลาคม 2546 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไป ตามสัญญาเช่าซื้อ มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน จากนั้นได้มีการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 35 งวด รวมเป็นเงิน 233,060.80 บาท เริ่มผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 36 ประจำงวดที่ 10 กันยายน 2549 เป็นต้นไปเกินกว่า 3 งวด ติดต่อกัน โจทก์มีหนังสือทวงถามให้นางเหลี่ยม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ภายใน 30 วัน แต่โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ตามหนังสือขอให้ชำระค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญา ต่อมาระหว่างเดือนกันยายน 2549 ถึงเดือนพฤษภาคม 2550 จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์อีกรวมเป็นเงิน 12,500 บาท ตามใบแจ้งการชำระเงิน วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารว่า รถยนต์คันที่นางเหลี่ยมเช่าซื้อจากโจทก์ได้หายไปจากบ้านเลขที่ 3 ซอยวิภาวดี 16 แขวงและเขตดินแดง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2549 ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางเหลี่ยมชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่นางเหลี่ยมทำไว้กับโจทก์และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ก็เสียสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น แต่จำเลยที่ 3 มิใช่ทายาทของนางเหลี่ยมจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยทั้งสามมิได้ต่อสู้เรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับนางเหลี่ยมผู้เช่าซื้อตามสัญญาค้ำประกัน มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่ความร่วมย่อมได้ประโยชน์จากข้อต่อสู้ดังกล่าวด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) และแม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อก็ตามแต่การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่นางเหลี่ยมมีต่อโจทก์ หนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ของสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นหนี้ประธาน หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/26 ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางเหลี่ยมให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของนางเหลี่ยมตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า ขณะนางเหลี่ยมถึงแก่ความตายนางเหลี่ยมยังมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หลังจากนางเหลี่ยมถึงแก่ความตายแล้วก็ได้มีการชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อมาอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบรับว่าหลังจากนางเหลี่ยมถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อโจทก์ให้โอนเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาตามสัญญาเช่าซื้อจากนางเหลี่ยมมาเป็นจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้ แต่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงชำระค่าเช่าซื้อดังกล่าวต่อมา พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางเหลี่ยมประสงค์จะให้เปลี่ยนชื่อคู่สัญญาและชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของนางเหลี่ยมให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าวถือเป็นการสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแทนนางเหลี่ยม อายุความคดีนี้จึงมิได้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนางเหลี่ยมตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่ต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 คือวันที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่าจะเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ หรือเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่โจทก์อ้างมาตามฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมเบี้ยปรับและให้ส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 คดีโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่ได้วินิจฉัยเนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความแล้วและคู่ความสืบพยานมาจนเสร็จสิ้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอีก เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเนื่องจากถูกคนร้ายลักไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2549 สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันระงับไปนั้น จำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 มาเบิกความยืนยันดังกล่าวว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปใช้ได้หายไปจากบ้านพักเลขที่ 3 ซอยวิภาวดี 16 แขวงและเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน และมีนางกฤษณา และนายสุนทร พยานจำเลยที่ 1 มาเบิกความว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2549 พยานทั้งสองอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครทางโทรศัพท์ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไป พยานทั้งสองจึงเพียงแต่ทราบเรื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปถึง 2 ปี ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าหลังเกิดเหตุได้ไปแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ที่เช่าซื้อ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่ได้ลงบันทึกรายงานประจำวันไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่นำพนักงานสอบสวนที่กล่าวอ้างมาเป็นพยานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏว่าเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายแล้วจำเลยที่ 1 ได้ขอหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์ไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแต่อย่างใด จึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบมาข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อมาสูญหายเนื่องจากถูกคนร้ายลักไป และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 36 ประจำวันที่ 10 กันยายน 2549 และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกันซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วันแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวจึงเลิกกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้รถอยู่นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์ได้ เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพของรถยนต์ที่เช่าซื้อที่ต้องเสื่อมราคาลง ประกอบกับทางได้เสียของโจทก์กับจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับตามสัญญาเช่าซื้อและภายหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่โจทก์ขอค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 6,000 บาท นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และหากส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 170,000 บาท นั้น เป็นจำนวนที่สูงเกินไป เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันฟ้อง แต่โจทก์ขอมาเพียง 8 เดือน รวมเป็นเงิน 8,000 บาท และเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 22 เดือน และหากส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 120,000 บาท จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายดังกล่าวด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 120,000 บาท และให้ชำระค่าขาดประโยชน์ 8,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาแต่ไม่เกิน 22 เดือน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร